วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อพัฒนาท้องถิ่น ดร.วาสนา คงสกุลทรัพย์





การมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อพัฒนาท้องถิ่น

ความหมายของการมีส่วนร่วม
                        การมีส่วน (Participation) คือ ผลของการเห็นพ้องกันในเรื่องของความต้องการและทิศทางของการเปลี่ยนแปลงและความเห็นพ้องต้องกัน จะต้องมีมากจนเกิดความคิดริเริ่มโครงการ เพื่อการปฏิบัติ โดยจะต้องตระหนักว่าการปฏิบัติทั้งหมด หรือการกระทำทั้งหมด ที่ทำโดยกลุ่มหรือในนามของกลุ่มนั้น กระทำผ่านองค์การ Organization ดังนั้นองค์การจะต้องเป็นเหมือนตัวนำให้บรรลุความเปลี่ยนแปลงได้
                        ขั้นตอนการมีส่วนร่วม
                        ขั้นตอนการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของประชาชนในการพัฒนา ควรจะมี 4 ขั้นตอน (โกวิทย์ พวงงาม. 2545 : 8)
                        1.    การมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหาของแต่ละท้องถิ่น กล่าวคือ ถ้าหากชาวชนบทยังไม่สามารถทราบถึงปัญหาและเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาในท้องถิ่นของตนเป็นอย่างดีแล้ว การดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาของท้องถิ่นย่อมไร้ประโยชน์ เพราะ        ชาวชนบทจะไม่เข้าใจ และมองไม่เห็นถึงความสำคัญของการดำเนินงานเหล่านั้น 
                        2.    การมีส่วนร่วมในการวางแผนดำเนินกิจกรรม เพราะการวางแผนดำเนินงาน        เป็นขั้นตอนที่จะช่วยให้ชาวชนบทรู้จักวิธีการคิด การตัดสินใจอย่างมีเหตุผล รู้จักการ นำเอาปัจจัยข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผน
                        3.    การมีส่วนร่วมในการลงทุนและการปฏิบัติงาน แม้ชาวชนบทส่วนใหญ่จะมีฐานะยากจน แต่ก็มีแรงงานของคนที่สามารถใช้เข้าร่วมได้ การร่วมลงทุนและปฏิบัติงานจะทำให้             ชาวชนบทสามารถคิดต้นทุนดำเนินงานได้ด้วยตนเอง ทำให้ได้เรียนรู้การดำเนินกิจกรรมอย่างใกล้ชิด
                        4.    การมีส่วนร่วมในการติดตาม และประเมินผลงาน ถ้าหากการติดตามงานและประเมินผลงานขาดการมีส่วนร่วมแล้วชาวชนบทย่อมจะไม่ทราบด้วยตนเองว่า งานที่ทำไปนั้นได้รับประโยชน์หรือไม่อย่างใด การดำเนินงานกิจกรรมอย่างเดียวกันในโอกาสต่อไป จึงอาจจะประสบความยากลำบาก
                        การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
                        หลักการสำคัญของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนมีดังนี้
(กุลชน ธนาพงศธร. 2532 : 362)
                        1.    หลักการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างทางราชการกับประชาชน โดยยึดถือความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อหน่วยงานหรือต่อบุคคล
                        2.    หลักการขจัดความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์และความคิด จะมีอิทธิพลต่อการดำเนินงานพัฒนาเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้งานหยุดชะงักและล้มเหลว
                        3.    หลักการสร้างอุดมการณ์และค่านิยมในด้านความขยัน ความอดทน การร่วมมือ ความซื่อสัตย์ และการพึ่งตนเอง เพราะอุดมการณ์เป็นเรื่องที่จะจูงใจประชาชนให้ร่วมสนับสนุนนโยบาย และเป้าหมายการดำเนินงาน และอาจก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน
                        4.    การให้การศึกษาอบรมอย่างต่อเนื่อง มีการส่งเสริมให้คนมีความรู้ความคิดของตนเอง ช่วยให้ประชาชนมั่นใจในตนเองมากขึ้น การให้การศึกษาอบรมโดยให้ประชาชนมีโอกาสลองคิด ปฏิบัติ จะช่วยให้ประชาชนสามารถคุ้มครองตนเองได้ รู้จักวิเคราะห์ เห็นคุณค่าของงาน และนำไปสู่การเข้าร่วมในการพัฒนา
                        5.    หลักการทำงานเป็นทีม สามารถนำมาใช้ในการแสวงหาความร่วมมือในการพัฒนาได้ดี
                        6.    หลักการสร้างพลังชุมชน การรวมกลุ่มกันทำงานจะทำให้เกิดพลังในการทำงาน และทำให้งานเกิดประสิทธิภาพ   
                        กลไกสำคัญในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาท้องถิ่น
                        1.     การทำประชาคม เป็นการรวมตัวกันของประชาชนในท้องถิ่น เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือแสดงข้อเรียกร้อง หรือเพื่อให้ผู้บริหารท้องถิ่น / ผู้เกี่ยวข้องได้มาพบปะ เพื่อชี้แจงหรือตอบข้อซักถาม หรือแถลงผลงานให้ประชาชนในท้องถิ่นได้รับทราบ
                        2.     การประชาพิจารณ์ เป็นการรวมตัวกันของประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นที่ผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะผู้บริหารท้องถิ่นได้ขอความคิดเห็นจากประชาชนในท้องถิ่นเกี่ยวกับโครงการสำคัญ ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะดำเนินการ เช่นโครงการจัดสร้างบ่อกำจัดขยะชุมชน เป็นต้น ข้อคิดเห็นที่ผู้บริหารท้องถิ่นได้จากประชาพิจารณ์จะถูกนไปประกอบการพิจารณาของผู้บริหารท้องถิ่นต่อไป
                        3.     ประชามติ เป็นการที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายขอให้ประชาชนในสังคมหรือท้องถิ่น ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่ผู้บริหารท้องถิ่นเห็นว่า จำเป็นต้องให้ประชาชนตัดสินใจว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้บริหารเสนอ เช่น โครงการจัดสร้างโรงงานกำจัดขยะด้วยไฟฟ้า หรือการจะอนุญาตให้ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่มาตั้งอยู่ในเขตชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น
                        4.     การถอดถอน เป็นมาตรการที่ประชาชน หรือพลเมืองของท้องถิ่นนั้นสามารถยื่นถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นที่พลเมืองส่วนมากเห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งต่อไปได้ นับเป็นมาตรการที่สำคัญที่พลเมืองไม่ต้องรอให้นักการเมืองท้องถิ่นครบวาระการดำรงตำแหน่ง
                        5.     การเสนอข้อปัญญัติท้องถิ่น เป็นการเปิดโอกาสให้พลเมืองได้เสนอให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นออกกฎหมายในท้องถิ่น เห็นว่า มีความสำคัญหรือจะเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่น
                        6.     การสนับสนุน การประท้วง เป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ภาคพลเมืองในท้องถิ่นจะได้แสดงออกถึงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของผู้บริหารท้องถิ่น เช่น การมาแสดงพลังสนับสนุนหรือประท้วงที่หน้าสำนักงานเทศบาล เป็นต้น
                        ในแง่ของทางการเมืองท้องถิ่น การที่ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา / พัฒนาชุมชนของตนเองก็นับเป็นมิติทางการเมือง โดยจะเป็นการที่ชุมชนแก้ไขปัญหาของตนเองโดยตนเอง หรือการร่วมมือกันภายนอก เพื่อแก้ไขปัญหาก็ตาม เพราะสาระสำคัญจะอยู่ที่การที่คนในชุมชนมีความตระหนักร่วมกันถึงสิทธิของชุมชน และมีจิตสาธารณะ ร่วมที่จะเข้ามารวมตัวกันเรียกร้องให้ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นเข้ามาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในชุมชน หรือ      การเรียกร้องให้ผู้บริหารท้องถิ่นจัดบริการสาธารณะที่มีมาตรฐานให้แก่คนในชุมชน เป็นต้น
                        สรุปได้ว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการพัฒนาท้องถิ่น เป็นการให้โอกาสประชาชนเป็นฝ่ายการตัดสินใจกำหนดปัญหา ความต้องการของตนเองอย่างแท้จริง เป็นการเสริมพลังอำนาจให้แก่ประชาชน กลุ่มองค์กรชุมชนให้สามารถระดมขีดความสามารถในการจัดการทรัพยากร การตัดสินใจ และควบคุมดูแลกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนมากกว่าการตั้งรับ สามารถกำหนดการดำรงชีวิตได้ด้วยตนเองให้มีชีวิต มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามความจำเป็นอย่างมีศักดิ์ศรีและสามารถพัฒนาศักยภาพ ประชาชน ชุมชนในด้านภูมิปัญญา ทักษะ ความรู้ ความสามารถ และการจัดการและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ และประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการอย่างมีอิสระ การทำงานต้องเน้นในรูปกลุ่มหรือองค์กรชุมชนที่มีวัตถุประสงค์ในการเข้าร่วมอย่างชัดเจน เนื่องจากพลังกลุ่มจะเน้นปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานพัฒนาต่าง ๆ บรรลุผลสำเร็จตามความมุ่งหมายได้ ทั้งนี้ การจะเกิดสภาพของการมีส่วนร่วมของประชาชน จะต้องเกิดสภาพการณ์หรือเงื่อนไขสำคัญ คือการมีความตระหนัก และความเห็นฟ้องต่างกันของประชาชนที่มีจำนวนมากพอต่อการริเริ่มกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง ที่เป็นความต้องการของส่วนรวมโดยความร่วมมือของประชาชนเพื่อให้บรรลุถึงการพัฒนาท้องถิ่น ได้ตามจุดประสงค์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น